เปิด 3 ขั้นตอนห้ามเลือด ถอดบทเรียนจากเหตุเด็ก ม.2 แทงเพื่อน ถ้ารู้วิธีและมีสติจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้น
จากกรณี เมื่อเวลา 08.40 น. วันที่ 29 ม.ค.67 ตำรวจ สน.คลองตัน รับแจ้งเหตุเด็กนักเรียนถูกทำร้ายภายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซ.พัฒนาการ 26 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ในที่เกิดเหตุบริเวณลานกีฬาโรงเรียนพบ ด.ช.เอ (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.2 ถูกของมีคมบริเวณลำคอ ถุงขยะ ถุงใส่ขยะ
อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์มีการแชร์คลิปช่วงเกิดเหตุ จะเห็นว่า เด็กที่ถูกแทงล้มลงกลางสนาม และพยายามที่จะลุกขึ้น แต่ก็ล้มลงไปอีก ในขณะที่ครูหลายคนในบริเวณนั้น กลับยืนดูห่างๆ ไม่เข้าไปทำการปฐมพยาบาลห้ามเลือด จนทำให้คนเจ็บเสียเลือดมาก กว่าที่กู้ภัยจะมาถึงและเริ่มปฏิบัติการกู้ชีพ ซึ่งในขณะนั้นเด็กที่บาดเจ็บได้เสียเลือดไปเป็นจำนวนมากจากบาดแผลฉกรรจ์ที่ถูกทำร้าย
ชาวโซเชียลต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงครูที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ว่าควรจะมีใครสักคนที่มีสติและคิดได้ว่าควรจะต้องปฐมพยาบาลเด็ก มากกว่ายืนมองเฉยๆ ทำอะไรไม่ถูก เพราะครูควรเป็นที่พึ่งให้กับนักเรียนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งในที่เกิดเหตุยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้เข้ามาช่วยปฐมพยาบาลเช่นกัน
จากเหตุสลดดังกล่าว สังคมเกิดคำถามว่า เหตุใดการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จึงไม่ถูกบรรจุลงไปในหลักสูตรหรือสอนในวิชาลูกเสือ ทั้งการทำ CPR ปั๊มหัวใจ ห้ามเลือด อาหารติดคอ และอื่นๆ ที่สามารถช่วยชีวิตได้ในเหตุฉุกเฉิน และมีความจำเป็นมากกว่าการผูกเงื่อน เข้าค่าย หรือแต่งเครื่องแบบถูกระเบียบ
วิธีห้ามเลือดที่ถูกต้องตามหลักปฐมพยาบาล
เว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูล 3 ขั้นตอน ห้ามเลือดอย่างถูกวิธีในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับผู้ต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน หรืออยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงสิ่งแรกที่ต้องทำคือการตั้งสติ และประเมินสถานการณ์
วิธีห้ามเลือด
- หาจุดที่เลือดออกว่าอยู่บริเวณใด และประเมินว่าเลือดออกมากถึงระดับไหน
- ห้ามเลือด โดยใช้มือกดนิ่ง ๆ ตรงบริเวณที่เลือดออกไว้ตลอดจะทำให้หลอดเลือดหดและสามารถห้ามเลือดได้
- หากผู้ได้รับบาดเจ็บมีแผลใหญ่เลือดออกมากให้ใช้ผ้าสะอาดอัดเข้าไปตรงบริเวณนั้น และใช้มือกดลงไปเพื่อห้ามเลือด
การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ถ้าเรารู้วิธีการปฐมพยาบาลและห้ามเลือด จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้น